ที่เที่ยว ส๊วย...สวย |
ต้องการฟังเพลงเพราะหรือหยุดฟัง ให้เลือกคลิ๊ก ที่ปุ่มควบคุมด้านขวามือนี้
สวนศิลป์ บ้านดิน ธรรมชาติสถานเพื่องานศิลปะ
"ราชบุรีเป็นแหล่งรวมศิลปะการแสดงแบบ 'คอนเทมโพรารี' (Contemporary) ไม่ว่าจะเป็นวงระนาด ลิเก รำวง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ" "ครูเล็ก" ภัทราวดี มีชูธน คุณครูใหญ่แห่งวงการละครเวทีเมืองไทย บอกกล่าวแก่ผู้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสวนศิลป์ บ้านดิน ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ธรรมชาติสถานเพื่อการอบรมศิลปะหลากหลายแขนงซึ่งนับเป็นศูนย์ศิลป์แห่งใหม่ ภายใต้การดูแลของภัทราวดีเธียเตอร์
..หลายๆ คนเห็นด้วยกับคำพูดนี้ของครูเลยทีเดียว คำว่า คอนเทมโพรารี คือความร่วมสมัย เมื่อศิลปะการแสดงตามขนบแบบประเพณีไทยดั้งเดิมถูกนำมาหลอมรวมเข้ากับการแสดงแนวทันสมัยสไตล์ภัทราวดี ในห้องเรียนการแสดงของศิลปสถาน 'สวนศิลป์ บ้านดิน' บรรยากาศการพัฒนาจึงเริ่มต้นขึ้นที่นี่...
"สวนศิลป์ บ้านดิน" เป็นศิลปสถานท่ามกลางธรรมชาติล้อมรอบด้วยคูน้ำ และสวนมะม่วง เพื่อให้เป็นสถานที่พัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะแขนงต่างๆ "ครูเล็ก" อธิบายให้ฟังว่า โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นโดยการเปิดอบรมศิลปะการแสดงให้กับเด็กๆ ใน ต.เจ็ดเสมียน โดยมี ศิลปินศิลปาธร ปี 2548 มานพ มีจำรัส หรือ "ครูนาย" ของเด็กๆ เป็นผู้สอนการแสดง ซึ่งได้นำเทคนิคเธียเตอร์มาเป็นจุดเริ่มในการสอนให้ร้องเพลง เต้นระบำ และทำอุปกรณ์การแสดงต่างๆ ด้วยตัวเอง แล้วเมื่องานสงกรานต์ จ.ราชบุรี ที่ผ่านมา เด็กๆ ชาวเมืองโอ่งก็ได้นำเทคนิคเธียเตอร์มาใช้แสดงจริงในงาน "ประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์" เป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ได้อย่างสนุกสนานน่าตื่นตาตื่นใจ
ครูนาย ช่วยอธิบายให้ฟังอีกแรงหนึ่งว่า งานยุคเก่านั้นคือความคลาสสิก เพราะฉะนั้นเอกลักษณ์การแสดงของศูนย์ศิลป์แห่งนี้ จึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างพ่อเพลงแม่เพลงที่มีมาแต่โบราณ และ 'เทคนิคเธียเตอร์' ซึ่งก็คือการร้องเต้นเล่นละครตามพื้นฐานความรู้แบบฉบับตะวันตก ทำให้เกิดการแสดงแบบแผนใหม่ๆ ที่ขนบการแสดงแบบเก่ากับใหม่มาบรรจบกันได้อย่างลงตัว "นี่คือการพัฒนาศิลปะ และเป็นความร่วมสมัยที่น่าสนใจกว่างานในกรุงเทพฯ ที่จะเน้นแต่การแสดงแบบตะวันตก เช่น โมเดิร์นแดนซ์ ฮิพฮอพ ฯลฯ งานที่ผมกับครูเล็กกำลังพัฒนาขึ้นที่ราชบุรี จึงเน้นความรู้แบบตะวันออกมากกว่า เช่น รำไทยจะจีบมืออย่างไรให้ถูกต้อง หรือทำไมนุ่งผ้าโจงเวลาแสดง เทคนิคเหล่านี้ถือว่า 'ตกตะกอน' ในตัวครูผู้สอนอยู่แล้ว" ครูนาย กล่าว
อีกเหตุผลหนึ่งที่ ภัทราวดีเธียเตอร์ ลงหลักปักฐานการแสดงขึ้นที่นี่ ครูเล็กบอกเพราะเป็นสถานที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์เรื่อง "ตม" ทางไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ.2546 ถือเป็นละครน้ำดีการันตีจากการกวาดรางวัลมาได้มากมาย ฉากของบ้านสีส้มทำมาจากดิน ซึ่ง 'แม่' แสดงโดย ครูเล็ก-ภัทราวดี ใช้เป็นที่พักพิงในวาระสุดท้าย ก็สะท้อนว่าที่สุดแล้วชีวิตคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากเลย ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งมีที่นอนพออุ่นก็เพียงพอแล้วสำหรับคำว่า ความสุข
"ก้อนดินธรรมดาๆ ไม่ต้องหรูหราอลังการก็นำ 'ความสุขแบบง่ายๆ' มาสู่มนุษย์เราได้ ดิฉันนำแก่นความคิดนี้มาพัฒนาเป็นศูนย์ศิลปะต่อไป วันนี้เราสอนเด็กๆ ให้รู้ว่า
ความสุขนั้นหาได้ไม่ยากหรอก ในธรรมชาติ ในต้นไม้ ใบไม้ ก็มีให้เราถ้าเรามองเห็น" ครูเล็ก อธิบายสำทับ
สวนศิลป์บ้านดินโดยการออกแบบของศิลปินชื่อดัง นายดี ช่างหม้อ วันนี้จึงกลายเป็นโรงละครหลังเล็กๆ เปิดสอนตั้งแต่รำไทย ดนตรีไทย ไปจนถึงสากล "เปิดคอร์สสอนทุกวันเสาร์ ตอนนี้ผมเน้นสอนตีกลองเพราะเด็กวัยรุ่นกำลังเป็นวัยก้าวร้าว แรงเยอะ การตีกลองจึงเป็นวิธีใช้พลังงานแบบถูกทาง เขาตีกลองไปสักพักจากเด็กแข็งกร้าวกลายเป็นคนนิ่งๆ ไปเลย กลองนี้ปรับมาจากกลองสะบัดชัย และกลองเพล เด็กที่มาเรียนมีทั้งเด็กราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม แล้วเมื่อช่วงสงกรานต์ผมสอนการแสดงเดินสูงด้วยขาไม้ที่มีพื้นฐานมาจากการเต้นรำ เด็กต่างจังหวัดเขาจะต่างจากเด็กกรุงเทพฯ ตรงการเรียนรู้ทุกเรื่องจะเป็นความแปลกใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับเขา เราเป็นครูก็สนุกกับการสอนไปด้วย" ครูนาย บอกด้วยรอยยิ้ม
ผลงานนี้ก็ได้โชว์ในขบวนแห่ประกอบด้วยรถบุพชาติที่ตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมทีมกลอง ระนาดของนักแสดงจากภัทราวดีเธียเตอร์ และเด็กๆ ในโครงการที่แต่งกายเป็นดอกไม้ และแมลง สีสันสดใสสวยงาม เดินด้วยขาไม้ในขบวนแห่ ครูนาย ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่ต้องการมันไม่ใช่เรื่องของการแสดง แต่เป็นประสบการณ์ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ช่วยเหลือกันอย่างไร เพื่อให้งานในครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยดี
ครูนาย ทิ้งท้ายว่า ถ้าเด็กๆ คิดและเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจะทำให้เด็กๆ ต่อยอดได้ง่ายสำหรับการเรียนรู้ในเรื่องของ อาร์ต (Art) และ แอ็กติ้ง (Acting) ต่อไป สำหรับผู้สนใจศิลปะการแสดงแขนงนี้ ติดต่อกันได้ โทร.0-3239-7668
นอกจากจะประกอบด้วย โรงละคร, ห้องเรียน, ห้องสมุด, ห้องอาหารริมน้ำซึ่งสามารถรองรับกิจกรรมศิลปะต่างๆในทุกรูปแบบครบวงจรแล้ว สวนศิลป์บ้านดินยังเปิดบริการให้ เช่าสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมพักแรม จัดเลี้ยง ประชุมสัมมนาและจัดการแสดง โดยมีห้องพักในรูปแบบของบ้านดิน และ บ้านไม้ไผ่ ราคารวมอาหารเช้าด้วย ไม่แพงเลย อย่างบ้านริมรั้วพัก 2 คน 850 บาทต่อคืน หรือบ้านรู้ร้อนรู้หนาวที่ชื่อจริงใจกับอากาศที่ต้องสัมผัส ก็คืนละ 650 บาท เท่านั้น
ที่นี่น่าจะเหมาะกับคนที่ชอบพักผ่อนในบรรยากาศอิงธรรมชาติเหมือนอยู่บ้านสวนต่างจังหวัด ไม่ต้องการอะไรที่หรูเฟ่มากมาย ได้กลิ่นอายของวิถีชีวิตชนบทได้เห็นแปลงทุ่งนาเขียวๆ หรือ อาจจะเป็นสีเหลืองทองในฤดูเก็บเกี่ยว โดยมีเสียงบรรเลงดนตรีไทยจากการฝึกซ้อมของเด็กๆ หรือ เสียงหัวเราะสนุกสนานของนักเรียนที่มาทำกิจกรรมต่างๆ แค่นี้
ก็น่าจะทำให้ใจอิ่มเอมด้วยความสุขไม่น้อยแล้วล่ะ
ยิ่งถ้าเป็นการมาพักช่วงสุดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก็จะได้มีโอกาสชมศิลปะร่วมสมัย ที่ตลาดนัดหลังสถานีรถไฟเจ็ดเสมียนใกล้ๆที่พัก เพราะ ทุกวันศุกร์ถึงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป สวนศิลป์บ้านดิน ภัทราวดีเธียเตอร์กรุงเทพ เทศบาลเจ็ดเสมียน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยโดยนักแสดงไทยและต่างชาติ
ภายใต้ชื่อ “สืบสานงานศิลป์ ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน All About Arts.....” ให้เข้าชมฟรี บริเวณลานวัฒนธรรมตลาดร้อยปีเจ็ดเสมียน ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าแก่ตั้งแต่สมัยร. 5 ริมแม่น้ำแม่กลอง งานนี้มีทั้งการแสดงสมัยใหม่สไตล์เธียเตอร์ การแสดงของศิลปินอาวุโสพื้นบ้านโพธาราม ราชบุรี อาิทิ ลิเก ลำตัด ทำขวัญข้าว งานแสดงนิทรรศการศิลปะ ภาพถ่าย ภาพวาดที่บรรดาศิลปินท้องถิ่นนำมาจัดแสดง และยังได้เดินตลาดนัดเลือกซื้อเลือกกินแบบติดดิน
คลิคลิงค์ข้างล่าง เพื่อชมวิดีโอเพิ่มเติม
สงกรานต์ที่บ้านดิน ราชบุรี Part 1.m4v http://www.youtube.com/watch?v=7zeG5oFhDQA
สงกรานต์ที่บ้านดิน ราชบุรี Part 2.m4v http://www.youtube.com/watch?v=vBh_YiTW1Lk
ข้อมูลจาก จากหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับ 16 พฤษภาคม 2550
http://www.baandin.org/web/index.php?option=com_content&task=view&id=150&Itemid=64
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=326600
ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน
หนึ่งเดียวตลาดวัฒนธรรมเมืองราชบุรี
ประวัติความเป็นมา
ตลาดริมทางรถไฟที่เคยเจริญรุ่งเรือง ในอดีตเคยเป็นอำเภอมาก่อน เรียกว่า "อำเภอเจ็ดเสมียน" ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม เมื่อปี พ.ศ.2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประพาสต้นที่ตลาดเก่าแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2431 เมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงเสด็จประพาสไทรโยค พระองค์ทรงตรัสว่า "วัดเจ็ดเสมียน ลานวัดกว้างใหญ่ ต้นไม้ร่มดูงามนัก เรือลูกค้า จอดอาศัยอยู่ที่นี่มาก บ้านเจ็ดเสมียน นี้เป็นที่ชอบของนักเลงกลอน พอใจจะหยากไหว้วานให้เสมียนมาจดแทบทุกฉบับ" พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อคราวศึกเก้าทัพ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องเรือรบพม่าที่ท่าดินแดง พระองค์ทรงแต่งกลอนนิราศ เมื่อกองทัพของพระองค์เสด็จมาถึงตำบลเจ็ดเสมียน มีใจความว่า
ถึงท่าราบที่ทาบทรวงถวิล ยิ่งโดยดิ้นโหยหวนครวญกระสัน
ด้วยได้ทุกข์ฉุกใจมาหลายวัน จนบรรลุเจ็ดเสมียนตำบลมา
ลำลำจะใคร่เรียกเสมียนหมาย มารายทุกข์ทีทุกข์คะนึงหา
จึงรีบเร่งนาเวศครรไลคลา พอทิวาเยื้องจะสายันห์
ตลาดเจ็ดเสมียน แต่เดิมมีต้นจามจุรีใหญ่สองต้นอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นหมุดหมายของตลาดเล็กๆ ให้พ่อค้าแม่ค้าทางบกเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้าทางน้ำ มีเรือนแถวชั้นเดียวหลังคามุงจาก พอเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว พอบ้านเมืองพัฒนาขึ้นก็โค่นต้นจามจุรีลง ปลูกห้องแถวไม้สองชั้นขึ้นมา ตัวตลาดสดขยับจากริมแม่น้ำเข้ามาใกล้ทางรถไฟมากขึ้น เรือนแถวชั้นเดียวก็ถูกรื้อร้างไป ตลาดใหม่นี้เป็นที่ซื้อขายของคนทั่วสองฝั่ง ช่วงหนึ่งตลาดเจ็ดเสมียน เคยมีตลาดนัดทุกห้าวัน โดยนับตามข้างขึ้นข้างแรม สมัยต่อมา ตลาดเจ็ดเสมียนเริ่มแผ่วลง แต่ตลาดนัดโบราณ ทุก 3 ค่ำ 8 ค่ำ 13 ค่ำ เป็นตลาดนัดตอนเช้าก็ยังคงมีอยู่ จนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่ตลาดเจ็ดเสมียนเงียบเหงาลงไปนาน ชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน สวนศิลป์บ้านดิน (ภัทราวดีเธียเตอร์) จึงได้ร่วมกันฟื้นชีวิตตลาดเก่าแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี มานพ มีจำรัส (ครูนาย) เป็นผู้จุดประกาย และครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน) ได้ร่วมกับชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน จัดงาน All About Arts (สืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สุดท้ายของเดือน
ตำนานเจ็ดเสมียน
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า กองทัพทำลายปราสาทราชวังกำแพงเมืองทั้งชั้นนอกชั้นใน เผาทำลายบ้านเรือนราษฎร ฆ่าฟันลูกเด็กเล็กแดง ผู้หญิง พระภิกษุ สามเณร นำทรัพย์สินเงินทอง และกวาดต้อนผู้คนไปยังกรุงอังวะ พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) ตีฝ่าวงล้อมพม่ามาได้ ต้องการรวบรวมไพร่พล มีชาวบ้านจำนวนมากอาสามารับใช้ จนทหารที่เป็นเสมียนไม่เพียงพอ พระองค์ต้องการให้รับสมัครทหารให้ทันพบค่ำโดยเป็นเคร็ดของศาสตร์โบราณ จึงประกาศให้ผู้รู้หนังสือมาช่วย มีชายไทย 7 คน สมัครเข้ามาเป็นเสมียน ทำให้การรับสมัครชายไทยไปเป็นทหารเสร็จสิ้นก่อนพลบค่ำ พระองค์ประทับใจมาก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "หมู่บ้านเจ็ดเสมียน"
เพลิดเพลินไปกับความ สนุกสนานในบรรยากาศแบบงานวัดกันแล้ว มาที่นี่ต้องหาของอร่อยทานกันด้วย หรือ จะเป็นของฝากก็ได้ โดยของ อร่อยประจำถิ่น ซึ่งเป็นผลิต ภัณฑ์ที่โดดเด่นของตำบลเจ็ดเสมียนไม่ใช่อื่นไกลมีอยู่ในคำขวัญของจังหวัด ด้วย นั่นก็คือ ไชโป๊ ที่นี่ถือว่ารสชาติดี หรือจะเป็น เค้กมะพร้าวอ่อนน้องทราย ที่เจ้าของร้านเป็นอดีตอาจารย์คหกรรม ถ้าใครได้ลิ้มลองแล้ว รับรองจะติดใจต้องควักสตางค์ซื้อกลับบ้านกัน ทุกคน…ส่วนของใช้ที่นี่เขาก็มีชื่อเสียงในเรื่องการทอ ผ้าขาวม้า ที่มีหลากสี ให้ได้เลือกซื้อกันเป็นของฝากหรือจะใช้เองก็ไม่ว่ากัน
ชุมชนเล็ก ๆ ที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย แต่ทว่าสะท้อนให้เห็นถึงร่องรอย ของวัฒนธรรมเก่าแก่ ผ่านบ้านเรือนไม้โบราณที่เรียงราย ประกอบกับมิตรภาพที่เห็นได้จากรอยยิ้ม คำเชิญชวนด้วยน้ำเสียงที่เหน่อแต่จริงใจตามแบบฉบับของคนราด-รี ที่มีต่อผู้มาเยือน ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ มีเสน่ห์ กลายเป็นความทรงจำของผู้มาเยือนคนแล้ว คนเล่า.
********************************
การเดินทางไป จ.ราชบุรี โดยรถยนต์
ใช้เส้นทางสายเก่า สายเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านบางแค-อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่-นครชัยศรี-นครปฐม-ราชบุรี
- เส้นทางสายใหม่ ทางหลวงหมายเลข 338 จากกรุงเทพฯ-พุทธมณฑล-นครชัยศรี เข้าถนนเพชรเกษมบริเวณอำเภอนครชัยศรีก่อนถึงตัวเมืองนครปฐมประมาณ 16 กิโลเมตร จากนั้นใช้ถนนเพชรเกษมตรงไปตัวเมืองราชบุรี หรือใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1543
โดยรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง และสถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง สถานีรถไฟกรุงเทพฯ โทร.1690 หรือ 0-2220-4334, 0-2220-4444
โดยรถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถ จากสถานีขนส่งสายใต้ไปจังหวัดราชบุรีทุกวัน ทั้งรถธรรมดา รถปรับอากาศชั้น 1 และรถปรับอากาศชั้น 2 วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
ของฝาก ที่ขึ้นชื่อก็ได้แก่ ไชโป๊หวาน ผ้าขาวม้าหลากสี
ที่ข้อมูล : เดลินิวส์ และเว็บไซท์ราชบุรีศึกษา
-ชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน และสวนศิลป์บ้านดิน. (2553). หนึ่งเดียวตลาดวัฒนธรรมเมืองราชบุรี ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน. เอกสารประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายเมื่อ 8 มิถุนายน 2553.
ภาพ :
-http://www.wthanit.multiply.com/photos/album/91/91
-http://www.moohin.com/picpost/003/b/0901291233226819.jpg
-http://www.chetsamian.org/photo/galleries/oldpicture/chetsamian_351.jpg
-http://byfiles.storage.live.com/y1p7fnl_d3nPg4yH6nz38HkEWVOnEQFCgVm4A0_y3YxBinzGjS0389rrlqPeVPklbGn
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|